หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

>หลักสูตร >ปริญญาตรี

ประสบการณ์วิชาการที่โดดเด่นด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยมีรากฐานการดำเนินงานที่แข็งแกร่งด้วยประสบการณ์ 55 ปีในการจัดการศึกษาในสาขาวิชานี้ หลักสูตรตลอดจนแนวทางการสอนของเราได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งการทำงานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

หลักสูตรของเราไม่เพียงแต่ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการปฏิบัติที่จำเป็นแก่นักศึกษาในการเปลี่ยนผ่านสู่การทำงานได้อย่างราบรื่นเมื่อสำเร็จการศึกษา แต่เรายังมุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคนมีคุณธรรม จริยธรรมในวิชาชีพ ตลอดจนทักษะทางสังคมอย่างเต็มรูปแบบ

รายละเอียดของหลักสูตร

การดำเนินงานของหลักสูตรระดับปริญญาตรีในปัจจุบัน ครอบคลุมหลักสูตร 2 ฉบับ คือ หลักสูตรฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2561 (สำหรับนักศึกษาที่รับเข้าในปีการศึกษา 2561–2565) และหลักสูตรฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 (สำหรับนักศึกษาที่รับเข้าในปีการศึกษา 2566–2570) โดยข้อมูลที่กล่าวถึง ณ ที่นี้ ส่วนใหญ่อ้างอิงตามหลักสูตรฉบับล่าสุด ทั้งนี้ เอกสารข้อมูลรายละเอียดของหลักสูตรทั้ง 2 ฉบับ สามารถเข้าถึงได้ตาม links ดังนี้

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม

ประธานหลักสูตร:
ดร. ปาจรีย์ กุณฑลบุตร

pajaree.kon@mahidol.ac.th

เลขานุการหลักสูตร:
ดร. ชัชชัย ธนโชคสว่าง

chatchai.thn@mahidol.ac.th

Social Media

คู่มือนักศึกษา

วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ชื่อหลักสูตร: หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ชื่อปริญญา: วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
วท.บ. (อาชีวอนามัยและความปลอดภัย)
ประเภทของหลักสูตร: ปริญญาตรีทางวิชาการ จัดการเรียนการสอนด้วยภาษาไทยเป็นหลัก
ระยะเวลาการศึกษา: 4 ปี (ระบบทวิภาค)
สรุปคุณลักษณะสำคัญ (หลักสูตรฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566)
ปรัชญาการศึกษา: หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จัดการเรียนการสอนที่มุ่งการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง (Learning-centered) เน้นผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ (Outcome-based) และผู้เรียนสามารถเสริมสร้างความรู้ความสามารถ และทักษะใหม่ได้ด้วยตนเอง (Constructivism) ทั้งจากความรู้เดิมและประสบการณ์ที่ผ่านการเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานที่มุ่งปกป้อง ดูแลสุขภาพอนามัย ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบอาชีพได้
ลักษณะเฉพาะของหลักสูตร: มุ่งให้บัณฑิตมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถบูรณาการร่วมกับความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสมตามบริบทสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ผลลัพธ์การเรียนรู้ (PLOs): เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร บัณฑิตจะสามารถ
PLO1 ประพฤติตนในบทบาทนักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อการปกป้องและส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
PLO2 ชี้บ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการประสบอันตรายจากการทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือมาตรฐานทั้งในระดับชาติและระดับสากล
PLO3 ประเมินความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับประเภทหรือบริบทของสถานประกอบกิจการ
PLO4 ออกแบบมาตรการควบคุมความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้ตามกฎหมายหรือมาตรฐานทั้งในระดับชาติและระดับสากล
PLO5 สื่อสารองค์ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยโดยใช้เทคนิคการสื่อสารและวิธีการทางดิจิทัล ได้ตรงตามลักษณะงานและกลุ่มเป้าหมาย
PLO6 ปฏิบัติงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ เพื่อช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
จำนวนหน่วยกิต: ไม่น้อยกว่า 140 หน่วยกิต
รายวิชา: หมวดวิชาศึกษาทั่วไป (30 หน่วยกิต)
  • กลุ่มวิชาที่มหาวิทยาลัยกำหนด (24 หน่วยกิต)
  • กลุ่มวิชาที่หลักสูตรกำหนด (6 หน่วยกิต)
    หมวดวิชาเฉพาะ (104 หน่วยกิต)
  • กลุ่มวิชาแกนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ (32 หน่วยกิต)
  • กลุ่มวิชาเฉพาะด้านสาธารณสุข อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (66 หน่วยกิต)
  • กลุ่มวิชาเลือกด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (6 หน่วยกิต)
    หมวดวิชาเลือกเสรี (6 หน่วยกิต)
  • อาชีพที่สามารถประกอบได้:
  • นักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรม หรือหน่วยบริการในภาคเอกชน โดยสามารถปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพ ตาม พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
  • นักวิชาการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ดำเนินธุรกิจ หรือปฏิบัติงานเฉพาะทางอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  • การรับสมัครเข้าศึกษา

    ผู้สมัครจะต้องสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดภายใต้ระเบียบข้อบังคับและประกาศที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยมหิดล

    การรับนักศึกษาของหลักสูตรฯ ใช้ระบบ TCAS ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งประกอบด้วย 3 รอบ ดังนี้

    • TCAS-1 (รอบ Portfolio) – สำหรับนักเรียน ที่มีผลการเรียนดีเด่น มีความสามารถพิเศษด้านกิจกรรมวิชาการ มีโครงงานวิชาการหรือสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อนำเสนอในช่วงสอบสัมภาษณ์
    • TCAS-2 (รอบโควตา) – สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตจังหวัดใกล้เคียงที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นจังหวัดพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม แรงงาน หรือมีแนวโน้มการประสบอันตรายจากการทำงานสูง เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ฯลฯ โดยเป็นผู้ที่มีผลการเรียนดี และมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนด
    • TCAS-3 (รอบ Admission) – สำหรับนักเรียนทั่วไปที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ซึ่งได้ทำการสมัครและเลือกหลักสูตรนี้ โดย ทปอ. จะทำการจัดลำดับตามคะแนนและประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนดำเนินการของคณะสาธารณสุขศาสตร์ต่อไป

    ปฏิทิน TCAS สำหรับปี 2567:

    รอบ กำหนดรับสมัคร ประกาศผล
    TCAS-1 1 ธ.ค. – 8 ม.ค. 25 ม.ค.
    TCAS-2 20 มี.ค. – 8 เม.ย. 25 เม.ย.
    TCAS-3 6–12 พ.ค. 25 พ.ค.

    สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าศึกษา:

    สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงหลักเกณฑ์และแนวทางการสมัครเข้าศึกษาได้จากเว็บไซต์ TCAS ของมหาวิทยาลัยมหิดล